นอกจากการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายในตัวอาคารแล้ว ถังดับเพลิงก็นับเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ช่วยดับเพลิงชิ้นสำคัญที่ทุกอาคารต้องติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในอาคาร เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากเหตุอัคคีภัยได้อย่างรวดเร็ว โดยถังดับเพลิงที่พบเห็นทั่วไปนั้นมีหลายประเภท ซึ่งจัดแบ่งประเภทตามคุณสมบัติของสารชนิดต่าง ๆ ที่บรรจุภายในตัวถังดับเพลิง จึงทำให้มีความเหมาะสมในการดับเพลิงที่ไม่เหมือนกัน บทความนี้ บริษัท เซฟสิริ (ประเทศไทย) จำกัด จะมาไขข้อสงสัยอธิบายเกี่ยวกับถังดับเพลิงในแต่ละชนิดให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
การแบ่งประเภทของถังดับเพลิง
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
ถังดับเพลิงที่พบเห็นได้ทั่วไปมากที่สุด เนื่องจากมีราคาถูก หาซื้อง่าย แถมยังสามารถดับเพลิงไหม้ได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นเพลิงไหม้ประเภท K (เพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร และไขมันสัตว์) โดยภายในถังดับเพลิงชนิดนี้จะบรรจุก๊าซไนโตรเจนและผงเคมีแห้ง ที่สามารถระงับปฏิกิริยาเคมีของการเกิดเพลิงไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นฝุ่นผงเคมีขัดขวางการลุกไหม้ของออกซิเจนกับเชื้อเพลิง
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย
ถังดับเพลิงที่อัดแน่นไปด้วยสารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัด เมื่อฉีดออกมาแล้วจะมีลักษณะเป็นไอระเหย ไม่ทิ้งคราบสกปรกเหลือไว้ มีจุดเด่นในการด้านการกำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ออกซิเจน และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า จึงเหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงไหม้ประเภท A B และ C แต่ในส่วนของเพลิงไหม้ B และ C นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องดับเพลิงด้วย
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม
ถังดับเพลิงที่ภายในบรรจุน้ำผสมสารเคมีโฟม AR AFFF เมื่อฉีดออกไปแล้วจะเป็นฟองโฟมกระจายปกคลุมพื้นผิวเชื้อเพลิงไหม้ ทำให้ขาดออกซิเจนและค่อย ๆ ดับบรรเทาลง มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงประเภท A (เพลิงไหม้ที่เกิดจากของแข็ง) และเพลิงประเภท B (เพลิงไหม้ในของเหลวติดไฟและก๊าซติดไฟ) และถังดับเพลิงชนิดนี้ไม่สามารถใช้ดับเพลิงประเภท C (เพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า) ได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติเป็นสื่อนำไฟฟ้า
- ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ถังดับเพลิงที่มีลักษณะปลายกระบอกฉีดมีลักษณะใหญ่เป็นพิเศษ เพราะถังดับเพลิงชนิดนี้ใช้ไอเย็นจัดของน้ำแข็งแห้งจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งบรรจุภายในถังดับเพลิงช่วยในการลดความร้อนและดับเพลิงไหม้ ประเภท B (เพลิงไหม้ในของเหลวติดไฟและก๊าซติดไฟ) และประเภท C (เพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า) จุดเด่น คือสามารถดับไฟไหม้ได้อย่างรวดเร็ว และไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้อีกด้วย
- ถังดับเพลิงชนิดสูตรเคมีน้ำ
ถังดับเพลิงที่ภายในบรรจุสารทดแทนสารฮาล่อน 1211 เพื่อให้ได้ซึ่งถังดับเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงไหม้ประเภท A B C และโดดเด่นมากกับการดับเพลิงไหม้ประเภท K (เพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร และไขมันสัตว์) จึงเหมาะสำหรับติดตั้งใช้งานในห้องครัว และร้านอาหารทั่วไป
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำสะสมแรงดัน
ถังดับเพลิงที่ภายในบรรจุน้ำธรรมดาและก๊าซอัดไว้ในถังเพื่อเพิ่มแรงดันให้มากขึ้น ใช้ฉีดเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของเชื้อเพลิงที่เกิดจากวัตถุของแข็ง (เพลิงไหม้ประเภท A) เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า และพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนิยมติดตั้งภายในอาคารที่พักอาศัย เรือ และโรงงานเสื้อผ้า
การเลือกถังดับเพลิงให้เหมาะสมต่อการใช้งาน สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้จักถึงประเภทของถังดับเพลิงแต่ละชนิดให้ดีเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยในการใช้ดับเพลิงได้อย่างถูกต้องและควบคุมสถานการณ์ได้ทันที หากท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับถังดับเพลิง และต้องการอบรมดับเพลิง เสริมความรู้เพิ่มเติม สามารถปรึกษา บริษัท เซฟสิริ (ประเทศไทย) จำกัด ได้