ในสถานประกอบการที่มีการผลิต เก็บรักษา หรือจัดการวัตถุอันตราย ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสูง เนื่องจากวัตถุอันตรายถ้ามีการควบคุมที่ไม่มีมาตรฐานอาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีตำแหน่ง ” บุคลากรเฉพาะรับผิดชอบเก็บรักษาวัตถุอันตราย” ที่มีความรู้และความสามารถในการจัดการวัตถุอันตรายอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีการจัดการวัตถุอันตราย ต้องมีบุคลากรเฉพาะฯในการดูแลและรับผิดชอบ
บุคลากรเฉพาะฯ (บฉ.) คือใคร
บุคลากรเฉพาะฯ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาวัตถุอันตราย โดยบุคลากรเหล่านี้ต้องผ่านการทดสอบวัดความรู้ในหลักสูตรความปลอดภัยเกี่ยวกับการเก็บรักษาวัตถุอันตราย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด
หน้าที่ของบุคลากรเฉพาะฯ (บฉ.)
- ปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย: มีหน้าที่สำคัญในการดูแลให้สถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายมีความปลอดภัยตามข้อกำหนดใน “คู่มือการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย พ.ศ. 2550” หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ได้รับการเห็นชอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
- จัดทำแผนความปลอดภัยประจำปี: บุคลากรเฉพาะต้องจัดทำแผนความปลอดภัยในการเก็บรักษาวัตถุอันตรายประจำปีและจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- จัดทำและรับรองรายงานความปลอดภัย: ต้องจัดทำรายงานความปลอดภัยในการเก็บรักษาวัตถุอันตรายอย่างละเอียด และเป็นไปตามข้อกำหนด พร้อมทั้งรับรองความถูกต้องของข้อมูลในรายงานดังกล่าว
- ให้ข้อมูลต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม: หากเกิดเกิดอุบัติภัยจากสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตราย บุคลากรเฉพาะมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำในอนาคต
สถานประกอบการณ์ที่ต้องมี บุคลากรเฉพาะฯ (บฉ.)
ตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกาหนดให้สถานประกอบการวัตถุอันตราย มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบความปลอดภัยการเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ได้ระบุรายเอียดของสถานประกอบการที่ต้องจัดให้มี บุคลากรเฉพาะฯ 3 ข้อดังนี้
- ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกวัตถุอันตรายชนิดที่ 1, ชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 ที่มีปริมาณรวมตั้งแต่ 1,000 เมตริกตันต่อปีขึ้นไป
- ผู้ที่ครอบครองวัตถุอันตราย และมีพื้นที่การเก็บรักษาวัตถุอันตรายขนาดตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป
- ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ครอบครองวัตถุอันตรายที่เป็นวัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ หรือวัตถุเปอร์ออกไซด์
คุณสมบัติของบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบเก็บรักษาวัตถุอันตราย
ผู้ที่ต้องการเป็นบุคลากรเฉพาะเพื่อรับผิดชอบด้านการเก็บรักษาวัตถุอันตรายจำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้:
- การศึกษา: สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนวิชาเคมีไม่น้อยกว่า 8 หน่วยกิต หรือสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า โดยต้องมีประสบการณ์ทำงานในการจัดการและเก็บรักษาสารเคมีหรือวัตถุอันตรายไม่น้อยกว่า 3 ปี
- ทดสอบวัดความรู้: ผ่านการทดสอบวัดความรู้จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และผลการทดสอบดังกล่าวต้องยังไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบ
สำหรับคุณสมบัติข้อที่ 2 หากคุณไม่มีเวลาเตรียมตัวต้องการหลักสูตรติวสอบ สรุปเนื้อหา เทคนิคลับในการทำข้อสอบ เราของแนะนำคอร์สเตรียมสอบบุคลากรเฉพาะ (บฉ.) รับผิดชอบเก็บรักษาวัตถุอันตราย ราคาพิเศษ 1,500 บาท/ท่าน (เรียนออนไลน์)
เว็บไซต์ : เตรียมสอบบุคลากรเฉพาะฯ เซฟตี้เมมเบอร์
ติดต่อสอบถาม : 064 – 958 – 7451 (คุณแนน)
บุคลากรเฉพาะที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จะสามารถยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบการเก็บรักษาวัตถุอันตรายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอนการเตรียมเอกสารตามด้านล่างนี้เลย
ขั้นตอนการแจ้งขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะฯ
- เริ่มจากการตรวจสอบว่าสถานประกอบการของคุณเข้าเงื่อนไข การเป็นสถานประกอบการที่ต้องมีบุคลากรเฉพาะฯ หรือไม่
- ถ้าสถานประกอบการ ต้องมีบุคลากรเฉพาะฯ ให้ผู้ประกอบการจัดพนักงานที่มีคุณสมบัติการศึกษาตามเงื่อนไข จากนั้นเข้าทดสอบความรู้ กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
- การทดสอบความรู้เป็นแบบปรนัย 100 ข้อ ต้องคะแนนไม่น้อยกว่า 80 คะแนนถึงจะผ่านการทดสอบ
- เมื่อผ่านการทดสอบต่อไปจะเป้นการขอขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะฯ ให้ใช้เอกสาร บฉ.2 ในการยื่นขึ้นทะเบียน (กรณีพิเศษ หากคุณสมบัติด้านการศึกษา ใช้ประสบการณ์ทำงานในการจัดการและเก็บรักษาสารเคมีหรือวัตถุอันตรายไม่น้อยกว่า 3 ปีให้ยื่นแบบ บฉ.3 เพิ่มเติมด้วย)
- จากนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะตรวจสอบตามคำขอ หากผ่านผู้ยื่นจะได้รับหนังสือรับรองการจดทะเบียนตามแบบ บฉ.4
- ผู้ประกอบการสามารถยื่นแจ้งมีบุคลากรเฉพาะฯ โดยใช้เอกสาร บฉ. 5 แจ้งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่องทางการส่งสามารถเดินไปส่งได้ด้วยตัวเอง หรือช่องทางไปรษณีย์
เอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน
สามารถดาวน์โหลดเอกสารอย่าง บฉ.1 / บฉ.2 / บฉ.3 / บฉ.4 / บฉ.5 ได้ที่ >> ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบ การแจ้งมีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบ และการรายงาน ความปลอดภัยการเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ. 2565 (แนบไว้ท้ายกฎหมาย)
สรุป
การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะ (บฉ.) รับผิดชอบการเก็บรักษาวัตถุอันตรายตามกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าสถานประกอบการมีบุคลากรเฉพาะฯ ที่มีความรู้และความสามารถในการจัดการวัตถุอันตรายอย่างถูกต้องและปลอดภัย การเตรียมตัวให้พร้อมทั้งในด้านเอกสาร ความรู้ และการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด จะช่วยให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นไปอย่างราบรื่น
การมีบุคลากรเฉพาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในสถานประกอบการ แต่ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดการวัตถุอันตรายในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมอีกด้วย